ไปอ่านเจอในเวปหนึ่งมาครับ เลยเอามาฝากเพื่อนๆ ไว้เป็นความรู้กัน เดี๋ยวนี้มีขายกันเต็มไปหมด รู้ก่อนซื้อจะได้ไม่เสียใจครับ ปัจจุบันมีชุดคิต HID วางจำหน่ายในท้องตลาดอยู่หลายยี่ห้อ จากหลายตัวแทนจำหน่าย และในหลายระดับราคา ไล่ตั้งแต่แถวๆ 1 หมื่นบาทไปจนถึง 2 หมื่นกว่าบาท คำถามคือ "แล้วจะเลือกอย่างไหนดีล่ะ อย่างถูกหรืออย่างแพง แล้วยี่ห้อไหนดี" สถานการณ์บังคับให้ผมต้องเข้าเน็ต สถานที่ที่หลายคนบอกว่าคือห้องสมุดที่ใหญ่ที่สุดในโลก ค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อประกอบการตัดสินใจ จนกระทั่งได้พบกับสัจธรรม "เดิมๆน่ะ ดีอยู่แล้ว" ทำไม??? ก็เพราะ 1.ค่า K ที่เขาใช้โฆษณา เช่น 7000K หรือ 12000K นั้น ไม่ใช่ตัวที่บ่งบอกถึงความสว่าง แต่เป็นค่าที่ใช้บอกเฉดสีของแสง 2.ความสว่างมีหน่วยเป็นลูเมนส์ (lm) แต่ค่า K หรือเคลวิน เป็นหน่วยของอุณหภูมิสี (Color Temperature) 3.ค่า K ของ HID จะแปรผกผันกับความสว่าง 4.HID ที่สว่างที่สุดคือ 4100K ซึ่งเป็น OEM ของรถทั่วโลก โดยมีค่าความสว่างอยู่ที่ 3200 ลูเมนส์ 5.HID 5800K จะสว่างแค่ 2400 ลูเมนส์ 6.HID 8000K จะสว่างเพียง 2000 ลูเมนส์ เทียบกับ 1700 ลูเมนส์ของหลอดฮาโลเจน 100 วัตต์ 7.HID 12000K จะมีค่าความสว่างต่ำกว่า 2000 ลูเมนส์ (ผมเดาเอาว่าอยู่แถวๆฮาโลเจน 100 วัตต์นั่นแหละ ซึ่งเป็นที่มาของหัวเรื่อง) 8.HID 12000K-30000K จะเป็นแสงสีม่วง ที่เราคุ้นเคยกันในชื่อแสง "อุลตร้าไวโอเลต" (Ultra Violet) หรือ "แบล็คไลท์" (Black Light) (คิดดูสิว่ามันจะมองเห็นอะไรมั้ย) 9.HID 12000K แม้จะมีความสว่างเท่ากับหลอดฮาโลเจน หรือใกล้เคียง แต่มีข้อเสียมากกว่าคือ แสงฟุ้งกว่า ซึ่งเป็นธรรมชาติของแสงสีน้ำเงิน/ม่วง ทำให้ยอนตาคนที่ขับรถสวนทางมา ซึ่งอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุรุนแรงได้ นอกจากนี้แสงสีน้ำเงิน/ม่วงของ HID 12000K ยังทำให้เราต้องใช้สายตาเพ่งมองวัตถุ เช่น ถนน มากกว่าปกติด้วย ทำให้เกิดอาการล้าทางสายตาได้ง่ายและเร็วกว่า ภาพนี้แสดงให้เห็นตำแหน่งกระเปาะของหลอดซีนอนที่อยู่ตรงกันกับไส้หลอดฮาโลเจน แสดงว่ายี่ห้อนี้ดีไซน์ออกมาดี จุดกำเนินแสงจะไม่เพี้ยน แต่บางยี่ห้อไม่ได้เป็นแบบนี้ ต่อไปนี้คือข้อมูลโดยสังเขปที่ผมได้ไปอ่านมา ซึ่งผู้สนใจสามารถอ่านฉบับเต็มได้ (ภาษาอังกฤษ) ที่ และ www.tbyrnemotorsports.com/hids/hids.html และ www.intellexual.net/hid.html HID (High Intensity Discharge) คือเทคโนโลยีไฟส่องสว่างที่ต่างไปจากระบบฮาโลเจนปกติ แสงของหลอดฮาโลเจนจะเกิดจากการเปล่งแสงของขดลวดความต้านทาน ขณะที่แสงของ HID จะเกิดจากการปล่อยกระแสไฟฟ้าให้วิ่งผ่านก๊าซซีนอน คล้ายกับการทำงานของหลอดฟลูออเรสเซนต์ การสปาร์คครั้งแรกจะใช้แรงดันไฟสูงถึง 25,000 โวลต์ ก่อนจะลดระดับลงมาเป็นไฟเลี้ยงที่ 35 วัตต์ 12 โวลต์ ข้อดีของ OEM HID 4100K คือ 1.กินไฟต่ำกว่าฮาโลเจน 3 เท่า (HID = 35 วัตต์, halogen = 55-100 วัตต์) 2.สว่างกว่าฮาโลเจน 4 เท่า (HID = 2400-3200 ลูเมนส์, halogen = 800-1700 ลูเมนส์) 3.มีความเข้มของแสงสูงกว่าฮาโลเจน 10 เท่า (HID = 202,500 แรงเทียน, halogen = 21,000 แรงเทียน) 4.อายุใช้งานนานกว่าฮาโลเจน 6 เท่า (HID = 2500 ชั่วโมง, halogen = 400 ชั่วโมง) 5.มีอินฟราเรดและอุลตร้าไวโอเลตต่ำกว่าฮาโลเจน ทั้งนี้อินฟราเรดและอุลตร้าไวโอเลตคือต้นเหตุที่ทำให้เกิดอาการล้าทางสายตา ทั้งของผู้ขับขี่เองและผู้ร่วมทาง 6.อุณหภูมิสีของ HID เป็นระดับที่ใกล้เคียงแสงธรรมชาติมากที่สุด และทำให้เห็นภาพวัตถุได้ชัดเจนที่สุด 7.หลอดฮาโลเจนที่มีอุณหภูมิสีระหว่าง 2300K-4000K จะมีความสว่างน้อยกว่าหลอดฮาโลเจนธรรมดา เพราะใช้ฟิลเตอร์ในการเปลี่ยนสีของแสง 8.แสงของ HID จะไปได้ไกลกว่า กว้างกว่า และมีแพ็ตเทิร์นของแสงที่ชัดเจนกว่า ฟิลิปส์ (Philips) และออสแรม (Osram) คือ 2 ซัพพลายเออร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่ผลิต HID ส่งให้กับผู้ผลิตรถยนต์ทั้งค่ายยุโรปและค่ายญี่ปุ่น โดย HID ของฟิลิปส์และออสแรมจะมีอายุการใช้งานอยู่ระหว่าง 2000-2500 ชั่วโมง และมีอุณหภูมิสีอยู่ระหว่าง 4100K-5800K ซึ่งจะให้แสงใกล้เคียงแสงธรรมชาติที่สุด ส่วนอุณหภูมิสีที่สูงกว่านี้จะออกโทนฟ้า น้ำเงิน และม่วง ตามลำดับ ภาพแสดงอุณหภูมิสี ทั้งฟิลิปส์และออสแรมไม่มีรายใดที่ผลิตหลอด HID ที่มีอุณหภูมิสีเกิน 6000K ดังนั้นหากพบชุดคิตที่มีอุณหภูมิสีสูงเกิน 6000K และบอกว่าเป็นฟิลิปส์หรือออสแรมทั้งชุดแล้ว สันนิษฐานไว้ก่อนว่าปลอม เพราะส่วนใหญ่ที่เห็นจะเข้าลักษณะว่า เฉพาะบัลลาสต์เท่านั้นที่เป็นของฟิลิปส์ แต่หลอดเป็นยี่ห้ออื่น คุณกำลังเข้าใจผิด ปัจจุบันมีผู้ผลิตหลายรายที่ผลิตชุดคิต HID 7000K, 8000K ไปจนถึง 12000K ออกจำหน่าย หลายคนเข้าใจผิดคิดว่าหลอดซีนอน 7000K-12000K สว่างกว่า, คุ้มกว่า และประสิทธิภาพสูงกว่าหลอด OEM 4100K ความจริงคือ อุณหภูมิสี (เคลวิน; K) จะแปรผกผันกับความสว่าง (ลูเมนส์; lm) นัยหนึ่งคือถ้าค่า K สูงขึ้น ความสว่างจะน้อยลง ตัวอย่างเช่น หลอด Philips OEM D2S 4100K ที่ 12.8 โวลต์จะให้ความสว่างที่ 3200 ลูเมนส์ ส่วนหลอด Philips Ultinon D2S 5800K ที่ 12.8 โวลต์จะให้ความสว่างที่ 2400 ลูเมนส์ ขณะที่บริษัทวิชั่น (Vision) ประเทศเกาหลี ระบุว่า หลอด 8000K ของวิชั่นจะมีความสว่างที่ 2000 ลูเมนส์ เทียบกับ 1700 ลูเมนส์ของหลอดฮาโลเจน (เดาว่าน่าจะเป็น 100 วัตต์) และ 800 ลูเมนส์ (หลอดฮาโลเจน 55 วัตต์) ยิ่งกว่านั้น อุณหภูมิสีที่สูงยังฟุ้ง (Glare) เข้าตาผู้ร่วมทาง และทำให้เกิดอาการล้าทางสายตาได้ง่ายกว่าด้วย ทั้งนี้การวิจัยของบริษัทในเยอรมนี, ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริการะบุว่าอุณหภูมิสีที่ใกล้เคียงแสงธรรมชาติที่สุด มองเห็นสิ่งต่างๆได้อย่างชัดเจนที่สุด และทำให้เกิดความเมื่อยล้าทางสายตาน้อยที่สุดคือ 4100K สำหรับรถยุโรป เช่น Benz, BMW และ Audi ถ้ามองผ่านๆจะเห็นว่าไฟหน้า HID ของรถทั้ง 3 ยี่ห้อเป็นสีม่วง ทั้งๆที่ความจริงแล้วทั้งหมดใช้หลอด 4100K นั่นเป็นผลจากส่วนประกอบของโคมไฟหน้า ไม่ว่าจะเป็นตัวโปรเจกเตอร์ เลนส์ โคมสะท้อนแสง หรือแผ่นชิลด์ ที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์เช่นเดียวกับแก้วปริซึม เพราะแสงสีน้ำเงินเป็นแสงที่มีพลังงานสูงสุดและไปได้ไกลที่สุดเทียบกับแสงสีอื่น ถ้าพิจารณาโดยละเอียดแล้วจะพบว่าแสงสีม่วงหรือน้ำเงินที่ออกมาจากโคมไฟหน้าของรถ BMW นั้น จะออกมาเฉพาะตรงขอบด้านข้างหรือด้านบน/ล่างเท่านั้น พื้นที่ตรงกลางยังคงเป็นแสงสีขาวปกติ การใช้ HID สีน้ำเงินหรือม่วงไม่เพียงแค่ทำให้สมรรถนะของระบบไฟหน้าลดลงเท่านั้น แต่ยังเป็นอันตรายกับผู้ร่วมทางด้วย โดยเฉพาะผู้ที่ขับรถสวนมา เพราะแสงสีน้ำเงินเป็นแสงที่มีการกระจายตัวสูง บุคลิกของมันจึงชอบแพร่กระจายออกไปทางด้านข้างมากกว่าจะพุ่งตรงไปข้างหน้า ผลก็คือเกิดการฟุ้งของแสงออกนอกแพ็ตเทิร์นที่ทางผู้ผลิตรถยนต์ได้ออกแบบไว้และยอนเข้าตาของผู้ที่ขับรถสวนทางมา ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของอุบัติเหตุรุนแรงได้ ภาพนี้แสดงให้เห็นลักษณะที่เรียกว่าการฟุ้งของแสงหรือ Glare มีไฟตัดหมอกดวงเดียวที่ใช้หลอดฮาโลเจน นอกนั้นใช้หลอด HID 8000K หลอดฮาโลเจนไม่ฟุ้ง แต่หลอด HID ฟุ้ง แสงสีน้ำเงินยังทำให้ทุกอย่างบนถนนเป็นสีน้ำเงินตามไปด้วย แถมความสว่างก็อยู่ในระดับต่ำ ทำให้ต้องเพ่งและใช้สายตามากกว่าปกติ นัยหนึ่งคือสายตาจะล้าเร็วและง่ายกว่า เทียบกับแสงจากหลอดฮาโลเจน ด้วยเหตุนี้ ทหารจึงระบุให้ใช้แสงสีแดงในการส่องดูแผนที่หรือตารางต่างๆในตอนกลางคืนมากกว่าจะใช้แสงสีอื่น เพราะแสงสีแดงจะตรงกันข้ามกับแสงสีน้ำเงิน ไม่เบิร์นสายตา ทำให้ไม่ต้องปรับสายตามากนักเวลาที่อ่านแผนที่เสร็จแล้วกลับไปมองผ่านความมืดอีกครั้ง ตรงกันข้ามกับแสงสีน้ำเงินที่จะทำให้ตาคุณบอดไปชั่วขณะหนึ่ง นอกจากนี้/b>แสงสีฟ้าหรือม่วงยังมีความเข้มของแสงต่ำกว่าแสงสีขาว เพราะแสงสีขาวเป็นแสงที่เกิดจากการรวมกันของแสงสีแดง เขียว น้ำเงิน และเหลืองในสัดส่วนที่เท่ากัน ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีความเข้มกว่าแสงสีใดสีหนึ่งอยู่แล้ว HID 8000K แสดงให้เห็นการฟุ้งของแสง ไม่สามารถควบคุมได้ สังเกตจากเส้นตัด (Cut Off) ที่ไม่ชัดเจนระหว่างส่วนสว่างกับส่วนมืด HID 4100K เส้นตัดจะชัดเจน แสงไม่ฟุ้ง ขอขอบคุณ คุณ Achura สำหรับบทความที่มีประโยชน์ครับ
ตอนแรกติด 12000K(สีฟ้าๆ สวยๆเลย) แล้วมองมะชัด เวลาขับต่างจังหวัด แต่ถ้าในกรุงเทพไม่มีปัญหานะ สุดท้ายทนมะไหวก็ไปเปลี่ยน เป็น 6000K แล้วอีกอย่างที่เกิดขึ้นหลังจากติดแล้ว เวลาเปิดไฟซีนอน จะทำให้วิทยุรับคลื่นไม่ชัดด้วย
อยากรู้ว่า โคมไฟของ ek96 มันจะมีตัวคล้ายๆๆ ที่บังแสง มันยื่นๆๆออกมาอะคับ ในโคมนะคับ เราต้องเอาตั้วนั้นออกรึเปล่าคับ เพราะไปสังเกตุ ของ โคมไฟ รุ่น ek98 โคมดำแท้ มันไม่มี ไม่ตัวบังแสงนี้ ในโคม เพราะว่าเวลาติดไฟซีนอลแล้ว H4 เวลาแสงมันออกมา เหมือนแสงมัน ฟุ้งๆๆๆ อะคับ (แสงมันไม่รวมเป็นเส้นตรงอะ)
ไม่ต้องเอาออกครับ เพราะถ้าเอาออกจะทำให้แสงยิ่งฟุ้ง โดยปกติรถที่ใส่ซีนอนมาจากโรงงานจะใช้โคมโปรเจคเตอร์ ซึ่งจะมีเลนส์รวมแสงทำให้แสงไม่ฟุ้งและพุ่งเป็นลำแสง ส่วนพวกเราติดแล้วก็พยายามกดๆไฟลงหน่อยละกันครับ