"Thailand : The Detroit of Asia" ประโยคข้างต้นนี้...คงจะคุ้นหูท่านผู้อ่านไม่มากก็น้อย "Detroit" (ดีทรอยต์) เป็นหนึ่งในเมืองอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา อุตสาหกรรมที่โดดเด่นที่สุดของเมือง Detroit ก็เห็นจะเป็น "อุตสาหกรรมยานยนต์" อย่างปฏิเสธไม่ได้ นั่นก็เพราะว่า...ที่นี่เป็นฐานทัพของยักษ์ใหญ่ในวงการรถยนต์ทั้ง 3 ตน ซึ่งได้แก่ Ford, GM และ Chrysler เพราะฉะนั้น "Detroit" จึงถูกขนานนามว่าเป็น "ศูนย์กลางของอุตสาหกรรมยานยนต์ของโลก" เช่นเดียวกันกับบ้านเราไทยแลนด์ ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่มีการพัฒนาในด้านอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างก้าวกระโดด จึงถูกเปรียบเปรยให้เป็น Detroit ของ Asia ไปโดยปริยาย อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผมต้องการจะพูดถึงนั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมหรือเทคโนโลยีเท่าไหร่นัก แต่ผมอยากจะพาท่านผู้อ่านไปพบกับ "ปลายทางของสายธารแห่งอุตสาหกรรมยานยนต์" ซึ่งได้ก่อเกิดเป็น "ดินแดน" ที่มีเสน่ห์น่าหลงใหลและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว หากใครได้ก้าวเข้ามาแล้วล่ะก็ บอกได้เลยว่า...ยากที่จะถอนตัว ดินแดนที่ว่านี้ก็คือ... "ดินแดนของรถซิ่ง" นั่นเอง "วัฒนธรรมรถซิ่ง" เป็นสิ่งที่เติบโตเคียงบ่าเคียงไหล่มาพร้อมๆกับ "อุตสาหกรรมรถยนต์" เป็นเวลานานหลายทศวรรษ "ประเทศไทย" ถือว่าเป็นประเทศที่มี "วัฒนธรรมรถซิ่ง" ที่แข็งแกร่งมาก นอกจากประเทศญี่ปุ่นแล้ว...ผมเชื่อว่าไม่มีประเทศไหนในเอเชียที่ "บ้ารถ" เท่ากับบ้านเราอีกแล้ว... ถ้าจะพูดถึงประวัติรถซิ่งของบ้านเราแล้วล่ะก็... เอามาเขียนเป็นหนังสือได้เป็นเล่มๆ เลยนะ ในปัจจุบันนี้... เป็นเรื่องธรรมดามากที่เราจะพบเห็นรถแต่งซิ่งแบบ "พร้อมรบ" วิ่งกันว่อนเมือง... ต้องใส่ล้อทีอี ติดเดฟฟี่เป็นโหล ตีโรลบาร์ชุดใหญ่ ใส่ยางเอดี จูนอีแปดห้า ฝาหน้าคาร์บอน เสียงท่อต้องลั่นๆ ...อย่างว่าแหละ...ของมันต้องมี! นอกเหนือจาก "ของแต่งซิ่งสุดฮิต" ที่ได้กล่าวมาแล้ว ยังมีอีกจุดหนึ่งที่ผมอยากให้สังเกต นั่นก็คือ "บริเวณกันชนท้าย" เออจริงด้วยว่ะ! ...ทำไมกันชนท้ายมันถึงเป็น "รูพรุน" ซะอย่างนั้น? หลายคนสงสัยว่า "รู" เหล่านี้ มีไว้เพื่ออะไร ...เพื่อลดน้ำหนัก? เพื่อแอโรไดนามิคส์? หรือเจาะแค่หล่อๆ ตามเทรนด์ไปเท่านั้น? ความจริงแล้ว ผมจะไม่สงสัยเลย... ถ้า "รู" เหล่านี้ไปโผล่อยู่ที่ "กันชนหน้า" เพราะมันคือการเจาะรูเพื่อเอาอากาศเย็นเข้าห้องเครื่องนั่นเอง ...แต่ทว่า "รู" พวกนี้ ดันมาอยู่ที่กันชนท้าย ...เอาล่ะสิ มันมีไว้ทำไรกันแน่!? แฟชั่นการ "เจาะตูด สุดแนว" นี้ ผมเคยเห็นครั้งแรกใน "วงการแดร็ก" ของประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อประมาณ 2-3 ปีที่แล้ว...ผมสะดุดตาเข้ากับรถแข่งคันหนึ่ง รถคันที่ว่านี้คือ "ซีวิค EG สามประตู" ซึ่งถูกดัดแปลงให้เป็นรถแดร็กอย่างเต็มตัว จุดที่ดึงดูดสายตามากที่สุด...เห็นจะเป็นการเจาะกันชนหลังเป็น "รูปวงกลม" ตลอดแนวกันชนท้าย toplowridersites.com รู้ๆกันอยู่ว่า อเมริกันเป็นพวกที่บ้า "รถแดร็ก" แบบสุดขั้ว มันไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่จะเห็นรถแข่งพิกัด 1000 แรงม้า วิ่งเข้าเส้นที่ความเร็วเกือบ 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขึ้นชื่อว่า "อเมริกัน" แล้ว แน่นอนว่ารถแข่งของพวกเขาต้องเป็นประเภท "อเมริกัน-มัซเซิล" ที่มาพร้อมกับเครื่องบล็อกวี ที่มี "ทอร์ค" มหาศาล แล้วเจ้า "สามประตูอันบอบบาง" จะไปวิ่งแข่งกับ "รถอเมริกันบ้าพลัง" พวกนี้ได้อย่างไร? superstreetonline.com ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า "สามประตู" คันนี้ ทำให้ "วงการอเมริกันแดร็ก" ต้องสั่นสะท้าน เมื่อมันสามารถทะยานเข้าเส้นชัยด้วยเวลาเพียง "เลขหลักเดียว"! เอาล่ะสิทีนี้...เล่นเอา "รถแข่งอเมริกัน" ต้องรีบหาปี๊บคลุมหัวกันเลยทีเดียว สูตรสำเร็จที่ทำให้ EG คันนี้ ซิ่งได้แบบ "ลืมตาย" นั้น ประกอบไปด้วย... "ตัวถังน้ำหนักเบาหวิว" บวกกับ "เครื่องยนต์แคมคู่ VTEC Turbo" และบวกกับ "สุดยอดอาวุธลับ" นั่นก็คือ "รูที่กันชนท้าย" นั่นเอง หืออ!? รูที่กันชนท้ายเนี่ยนะ? ...อาวุธลับ? speedhunters.com ความจริงก็คือว่า ... การเจาะรูที่กันชนท้าย ถือเป็น "สุดยอดอาวุธลับทางแอโรไดนามิคส์" ในวงการแดร็กของอเมริกา พวกเขาเรียก "รู" พวกนี้ว่า "Speed Holes" รถแข่งหัวแถวของวงการแดร็ก เคยบอกไว้ว่า "Speed Holes" ทำให้รถของพวกเขาซิ่งควอเตอร์ไมล์ได้เร็วขึ้น 0.4 วินาที ซึ่งถือว่า "โคตรน่าประทับใจ" แต่คำถามก็คือว่า "รู" พวกนี้ มันมีหลักการทำงานอย่างไร? มันทำให้รถวิ่งเร็วขึ้นได้อย่างไร? หรือมันเป็นแค่ความเชื่อ? แค่เรื่องเหลวไหล? superstreetonline.com คำตอบก็คือว่า... "Speed Holes" เหล่านี้ ถูกออกแบบมาบนพื้นฐานของ "อากาศพลศาสตร์" เพราะฉะนั้น มั่นใจได้เลยว่า... มันไม่ใช่แค่ "แฟชั่นกะโหลกกะลา" แน่นอน pinstake.com วัตถุประสงค์หลักๆของการเจาะรูที่กันชนหลังนั้น ก็เพื่อ "ลดแรงต้านอากาศ" ซึ่งเป็นแรงต้านถูกสร้างขึ้นมาจาก "Parachute Effect" (พาราชูท เอฟเฟค) ซึ่งปกติแล้วจะเกิดขึ้นที่บริเวณ "ภายในของกันชนหลัง" "Parachute Effect" หรือแปลเป็นไทยได้ว่า "ปรากฎการณ์ร่มชูชีพ" เป็นชื่อเรียก "ลักษณะการไหลของอากาศ" ที่ถูกบังคับให้ "ไหลวน" อยู่ในบริเวณเดิมๆ ซ้ำๆ ถ้าจะพูดให้เข้าใจง่ายๆ "Parachute effect" ที่เกิดขึ้นกับรถยนต์ก็คือ การที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของตัวรถ "กักลม" เอาไว้ แทนที่จะปล่อยให้มันไหลไปอย่างอิสระ การไหลของอากาศในลักษณะนี้จะทำให้ความดันอากาศของบริเวณดังกล่าวกลายเป็น "โซนความดันสูง" ซึ่งเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิด "แรงต้านอากาศ" การเจาะรูที่กันชนหลังนั้น จะช่วยระบายความดันที่เกิดขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้สามารถ "ลดแรงต้านอากาศ" ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการขับรถที่ความเร็วสูงๆ และนั่นก็หมายถึงการแข่งขันประเภท "แดร็ก" นั่นเอง จะว่าไปแล้ว การเจาะรูที่กันชนก็เปรียบเสมือนเป็น "แอโรพาร์ท" ชิ้นหนึ่ง เพราะว่ามันสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของกระแสลมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งความสามารถดังกล่าวนี้ เป็นหนึ่งใน "คุณสมบัติที่พึงมี" ของแอโรพาร์ท ถึงแม้ "การเจาะรูที่กันชนท้าย" จะมีถิ่นกำเนิดมาจาก "แดร็กเรซซิ่ง" แต่ปัจจุบันนี้ "แฟชั่นการเจาะรูที่กันชนหลัง" ก็ได้ลุกลามไปยังวงการเซอร์กิตเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็อย่างว่าแหละ... "การเจาะรูที่กันชนท้าย" เป็นการโมดิฟายที่ต้นทุนต่ำ แต่สามารถ "เพิ่มแอโร" ให้กับรถแข่งได้ดีไม่แพ้ "แอโรพาร์ทแพงๆ" เลย เพราะฉะนั้น "Speed Holes" เหล่านี้ จึงได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในวงการรถแข่งทางเรียบ จากสนาม... สู่ถนน... จากรถแข่ง...สู่รถซิ่ง... มันเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว ที่ "เทคโนโลยีของรถแข่ง" จะถูกส่งต่อไปยัง "รถซิ่งวิ่งถนน" อย่างทันท่วงที ไม่เว้นแม้แต่ "Speed Holes" ซึ่งถือเป็น "วิชามาร" ที่ถูกปลุกเสกขึ้นมาจากสนามแข่ง แล้วก็ถูกถ่ายทอดมายัง "ขาซิ่งสายสตรีท" อย่างเต็มรูปแบบ เพราะฉะนั้น... มันจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะพบเห็นรถซิ่ง "เจาะตูด สุดแนว" วิ่งกันเกลื่อนถนน สรุปได้ว่า "Speed Holes" หรือ "รูที่กันชนท้าย" นั้น ไม่ได้เป็นแค่ "แฟชั่น" เพียงเท่านั้น หากแต่มันเป็นการเปลี่ยน "กันชนธรรมดา" ให้กลายเป็น "แอโรพาร์ท" เพื่อลดแรงต้านอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ สุดท้ายของท้ายสุด ผมอยากจะฝากให้เป็นแง่คิดสำหรับเพื่อนๆ ที่ชื่นชอบในการแต่งรถ ว่า... "แฟชั่น" มันเป็นอะไรที่ฉาบฉวย.... แต่ "หลักการ" นี่สิ อยู่ยงคงกระพัน เรียบเรียงโดย Joh Burut ที่มา: http://johsautolife.com