คำว่า JDM ที่ย่อมาจาก Japan Domestic Market เป็นคำที่นิยมใช้กับรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ เพื่อสื่อให้ทราบถึงสเปกของสิ่งนั้นๆ สำหรับทำขายเฉพาะในตลาดรถยนต์ญี่ปุ่น ซึ่งคำๆ นี้อาจถูกนำมาดัดแปลงใช้อย่างต่อเนื่องกับรถยนต์ที่มีสเปกสำหรับขายในประเทศ อื่นด้วย ที่เห็นกันบ่อยคือ U.S.DM แต่ผู้เขียนก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า พอเป็นสเปกสำหรับขายในยุโรปทำไมจึงใช้คำว่า EU Spec หรือ EURO Spec ไปแทน • อะไหล่ของซีวิค Type R เมื่อถูกตัดขายในเมืองไทย คงไม่สามารถเรียกว่าเป็นอะไหล่ได้ แต่กลายสภาพมาเป็นของแต่ง ที่ผู้ค้าสามารถอัพราคาได้ตามใจชอบ เพราะความต้องการของคนเล่นรถในบ้านเรามีมาก รถญี่ปุ่นบาง รุ่นบางยี่ห้อ ไม่ได้มีขายเฉพาะในญี่ปุ่น แต่มีกระจายออกมาทั่วโลก ซึ่งก็รวมถึงเมืองไทยด้วย ทำให้เกิดสายของการตกแต่งรถที่เรียกว่า JDM Style ขึ้นมา โดยที่ไม่ได้ฮิตเฉพาะในบ้านเราเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสหรัฐอเมริกา ที่ถือว่าเป็นตลาดใหญ่ของรถยนต์ญี่ปุ่น เมื่อ ถึงจุดๆ หนึ่ง วัยรุ่นอาจรู้สึกเบื่อกับการวิ่งไล่ตามสิ่งที่มาจากสำนักแต่ง การหันมาแต่งรถแบบ JDM Style จึงถือเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ เพียงแต่การแต่งในลักษณะนี้มักจะถูกค่อนขอดเอานิดๆ ว่า “แต่งแล้วก็เหมือนไม่ได้แต่ง” สำหรับบ้านเราหากจะให้ผู้เขียนเดา การที่มีเชียงกงตัดอะไหล่รถมือสองจากญี่ปุ่นเข้ามารองรับกับความต้องการของ ผู้ใช้รถ คือจุดเริ่มต้นของการแต่ง JDM ซึ่งจากเดิมชิ้นส่วนของรถที่ถูกตัดมาจากจั๊งค์ของญี่ปุ่น เมื่อมาถึงเมืองไทยในช่วงแรกอาจเป็นเพียงแค่อะไหล่ แต่พอเวลาผ่านไป อะไหล่รถบางรุ่นจากญี่ปุ่นกลับเปลี่ยนสถานะกลายเป็นของแต่งที่คนขายสามารถ เพิ่มราคาค่างวดขึ้นมาได้ หากว่าของชิ้นนั้นๆ อยู่ในกระแสความสนใจของคนเล่นรถ อธิบายง่ายๆ การแต่งแบบ JDM คือ การนำชิ้นส่วนต่างๆ ของตัวรถที่เป็นสเปกสำหรับขายในญี่ปุ่นมาเปลี่ยนแบบถอดใส่กับรถที่ขายในบ้านเรา เพราะ จากการที่ตลาดญี่ปุ่นมีความต้องการที่หลากหลายของลูกค้า เราจะพบว่าในรถยนต์หนึ่งรุ่นอาจมีรุ่นย่อยอีกมากมายนับสิบรุ่นสำหรับขายใน ญี่ปุ่น ซึ่งในแต่ละรุ่นย่อยก็ยังมีความแตกต่างกันอีก ตั้งแต่รายละเอียดของรูปลักษณ์ภายนอก เช่น กันชนหน้า, ไฟหน้า, ฝากระโปรง, ล้อ, กระจังหน้า (แม้แต่กระจกสีชาก็ฮิตมาก) ไปจนถึงของเล็กๆ น้อยๆ ที่อยู่ในห้องโดยสาร เช่น เบาะนั่ง สวิตช์ต่างๆ แผงหน้าปัด สิ่งเหล่านี้ก็เลยกลายเป็นของแต่งที่มีค่าสำหรับผู้ที่ชอบแต่งรถในแบบ JDM Style ฮอนด้า ซีวิครุ่น EG(ที่บ้านเราได้รับความนิยมอย่างมาก) น่าจะเป็นรถรุ่นแรกๆ ที่ได้รับความสนใจในการแต่งแบบ JDM ในวงกว้าง ก่อนที่จะแพร่หลายไปยังรถยนต์รุ่นอื่นๆ ที่บ้านเราและในญี่ปุ่นมี • ฮอนด้า ซีวิค EG ที่ได้รับความนิยมและมีจำนวนรถยนต์แล่นบนถนนมาก น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดการนำอะไหล่ที่ถูกตัดจากญี่ปุ่น มาแปรสภาพเป็นชุดแต่งจนกลายมาเป็นการแต่งในแบบ JDM Style ที่ได้รับความนิยม ว่า กันว่าหากจะเปลี่ยนให้ครบครันแบบ JDM เอาแค่เฉพาะรูปลักษณ์ภายนอกและภายในให้เหมือนกับรุ่นย่อยที่ขายในญี่ปุ่น เช่น SiR คุณอาจจะต้องถือเงินไปถึง 60,000-80,000 บาท พร้อมกับทำใจเอาไว้ล่วงหน้าว่า ท้ายที่สุดแล้วก็ไม่มีอะไรแตกต่างจากเดิม เพราะการแต่งแบบ JDM Style พูดง่ายๆ คือ การสลับของหรือเปลี่ยนอะไหล่นั่นเอง นอกจากซีวิค EG แล้ว ซีวิค EK ก็เป็นอีกรุ่นที่ได้รับความนิยม โดยเฉพาะการเปลี่ยนให้เป็นเวอร์ชันสูงสุดอย่าง Type R แม้ว่า Type R ในญี่ปุ่นจะเป็นซีวิค EK แบบแฮทช์แบ็ก 2 ประตู แต่จากการที่ซีวิค แฮทช์แบ็ก (ไม่ว่าจะเป็นเวอร์ชันธรรมดา หรือ Type R) ใช้ตัวถังด้านหน้าจนถึงแผงหน้าปัดร่วมกับรุ่นซีดาน ชิ้นส่วนต่างๆ ตรงจุดนั้นก็เลยกลายเป็นของแต่งที่มีค่าไปเสียอย่างนั้น เพราะสามารถนำมาใช้แทนกันได้เลยแบบไม่ต้องดัดแปลง ซึ่งงานนี้บางคนอาจจะไม่อยากได้อะไหล่มือสองที่ตัดมาจากเชียงกง แต่ใช้วิธีสั่งของใหม่มาเปลี่ยนใส่เลยก็มี ส่วนรถยนต์รุ่นอื่นๆ ที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กันก็มีอีกเยอะ อาทิเช่น นิสสัน พริมีรา, ซูบารุ อิมเพรซา, ซูบารุ เลกาซี่, ซูบารุ ฟอเรสเตอร์, โตโยต้า โคโรลล่า, โตโยต้า โคโรน่า, มิตซูบิชิ แลนเซอร์, มิตซูบิชิ กาแลนท์, มาสด้า 323 และ มาสด้า 626 การแต่งรถแบบ JDM อาจไม่จำเป็นต้องมาแบบของครบๆ หรือตรงรุ่นก็ได้ บางท่านนิยมเอาของรุ่นย่อยนั้นมารวมกับรุ่นย่อยนี้ (หรือแต่งเฉพาะบางจุด) แต่หากจะให้ ‘Inw’ และคนร้องฮือเมื่อพบเห็น ก็ต้องแต่งกันชนิดตรงรุ่นย่อยที่มีอยู่ในญี่ปุ่น (แต่บ้านเราไม่มี) และมาในแบบของที่ครบถ้วนเท่านั้น ทว่ากระแส JDM Style ก็มาถึงทางตัน ในช่วงที่รถญี่ปุ่นรุ่นยอดนิยมในบ้านเราเกิดความเปลี่ยนแปลงทางการตลาด ด้วยเพราะรถญี่ปุ่นหลายรุ่น ไม่ได้เป็นแบบคันเดียวกับที่ขายอยู่ในญี่ปุ่นอีกต่อไป เช่น โตโยต้า โคโรลล่า เมื่อหลุดจากรหัส 111 มาถึงอัลติสรุ่นแรก โฉมทั้งด้านหน้า-หลังก็ถูกเปลี่ยนแปลงไป เพราะต้องไปอิงอยู่กับเวอร์ชันที่ขายในไต้หวัน และอเมริกา หรืออย่างฮอนด้า แอคคอร์ด หากนับจากเจนเนอเรชันที่ 6 เป็นต้นมา บ้านเราก็จะใช้โฉมเดียวกับเวอร์ชันที่ขายในอเมริกา ซึ่งก็เป็นคนละคันกับเวอร์ชันญี่ปุ่น •เมื่อเปิดในเว็บดูจะพบว่า รุ่นย่อยของรถยนต์ญี่ปุ่นแบบเดียวกับที่ขายในบ้านเราจะมีทางเลือกมากมาย และมีชิ้นส่วนที่แตกต่างออกไป ซึ่งสามารถนำมาทดแทนกับรถยนต์ที่ขายในบ้านเราแบบไม่ต้องดัดแปลง Glossary JDM = Japan Domestic Market JAMA = Japan Automobile Manufacturers' Association Dress up JDM Style = การนำชิ้นส่วนต่างๆ ของตัวรถที่เป็นสเปกสำหรับขายในญี่ปุ่นมาเปลี่ยนแบบถอดใส่กับรถที่ขายในบ้านเรา Bosozoku = แก๊งซิ่ง ชอบอาศัยจำนวนมากเข้าว่ายึดถนนหลวงเป็นสนามประลองความเร็ว Gentlemen’s Agreement = ข้อตกลงลูกผู้ชาย