ลมยางอ่อนคือศัตรูสำคัญที่สุดของยาง ทั้งในเรื่องอายุการใช้งาน และความปลอดภัย นอกจากการออกแบบของยางแล้ว อายุการใช้งานของยางขึ้นอยู่กับ ปัจจัยหลายชนิดโดยตัวแปรที่สำคัญที่สุดคือ ลมยาง สภาพถนน และนิสัยการขับขี่ ของผู้ขับขี่ โดยทั่วไปแล้วยางที่ได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง จะมีอายุการใช้งานได้หลายปี หลายหมื่นกิโลเมตร ยางประเภท sport high performance จะมีอายุการใช้งานสั้นกว่า ยางประเภทใช้งานทั้วไปเล็กน้อย ยางเรเดียลมีอายุการใช้งานนานกว่ายางใช้ยางใน และยางเรเดียลเสริมใยเหล็กมีอายุการใช้งานนานกว่ายางเรเดียลผ้าใบ Wear indicator จะมีระบุอยู่บนยางทุกเส้น เมื่อดอกยางสึกลงมาถึงระดับ wear indicator นี้แล้ว ต้องเปลี่ยนยางทันทีในบางประเทศผู้ใช้รถถือว่าทำผิดกฎหมาย ถ้ายังไม่เปลี่ยนยางเมื่อสึกถึงระดับ wear indicator ลมยาง การเติมลมยางไม่ถูกต้องมีผลต่อสมรรถนะ ความปลอดภัย อายุการใช้งานและการกินน้ำมันมากผิดปกติของรถ ลมยางอ่อนลงอย่างน้อย 1 psi ทุก 1 เดือน แม้ยางและล้อจะอยู่ในสภาพสมบูรณ์ที่สุด คุณควรตรวจลมอย่างน้อยเดือนละ 2 ครั้ง ลมยางอ่อนมักมองไม่เห็นความแตกต่างด้วยตาเปล่า ยางที่ลมเหลือ 20 psi จาก 30 psi ดูด้วยสายตาอาจมองไม่เห็นความแตกต่าง ซึ่งต้องใช้เครื่องมือวัดเท่านั้นจึงจะพิสูจน์ได้ ลมยางอ่อนก่อให้เกิดความร้อนสูงขณะขับขี่ด้วยความเร็วสูง ยิ่งอ่อนมากความร้อนยิ่งสูงมาก เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยๆ ของกรณีการเกิดยางระเบิด และในสภาพการใช้งานปกติยังส่งผลให้ความสามารถในการรับน้ำหนักของยางลดลง ก่อให้เกิดอันตรายเช่นเดียวกับยางที่บรรทุกน้ำหนักเกินกำหนด ซึ่งทำให้อายุการใช้งานของยางสั้นลงมาก ดังตัวอย่างต่อไปนี้จากการศึกษาของผู้ผลิตยางบางรายได้ข้อมูลว่า ลมยางอ่อน 30% จากที่ผู้ผลิตแนะนำเช่นจาก 30 เหลือ 20 psi มีผลทำให้อายุการใช้งานของยางสั้นลงประมาณ 30% ลมยางอ่อน 50% จะส่งผลให้อายุการใช้งานของยางสั้นลงประมาณ 75% ห้ามเติมลมยางเกินค่าสูงสุดที่ผู้ผลิตกำหนดโดยเด็ดขาด เป็นอันตรายอย่างยิ่ง ซึ่งพบได้บ่อยมากในรถตู้และรถกระบะในประเทศไทย การเติมลมยางต้องเติมขณะยางเย็นเท่านั้น ยางเย็นหมายความถึงยางที่ทิ้งไว้หลังจากวิ่งระยะทางไกลมาแล้วไม่น้อยกว่า1 ชม. หรือ ยางที่วิ่งด้วยความเร็วต่ำในเมืองไม่เกิน 2 - 3 กม. ไม่มีคำแนะนำตายตัวว่าควรจะเติมลมยางเท่าไร ผู้ใช้รถต้องยึดถือตามค่าที่ผู้ผลิตรถยนต์แต่ละรุ่นแนะนำมาเท่านั้น ค่าลมยางแนะนำนี้ ผู้ผลิตรถยนต์จะร่วมมือกับผู้ผลิตยาง แนะนำสำหรับรถแต่ละรุ่นโดยดูจาก น้ำหนักรถ การกระจาย น้ำหนัก ประเภทการใช้งาน นิสัยการขับขี่ของลูกค้ารถแต่ละประเภท รวมถึงการชดเชยลักษณะการทรงตัวของรถ แต่ละรุ่นเทียบกับขนาดและส่วนประกอบอื่นๆของยาง โดยต้องไม่ลืมว่าเมื่อบรรทุกหนัก หรือขับขี่ด้วยความเร็วสูงต้องเพิ่มลมยางตามที่ผู้ผลิตแนะนำด้วยทุกครั้ง เมื่อเกิดอาการยางอ่อน เนื่องจากรั่วสามารถทำการซ่อมปะได้ แต่ห้ามทำการซ่อมปะยางที่แก้มยาง หรือ ซ่อมปะหน้ายางที่มีแผลรูขนาดใหญ่กว่า 1/2 ซม. สภาพถนน และ นิสัยการขับขี่ นิสัยการขับขี่และการเลือกใช้เส้นทางของผู้ใช้รถ มีผลต่ออายุการใช้งานของยางเป็นอย่างมาก เช่นการออกล้อฟรีหรือการเบรค จนล้อล๊อคจนน้ำหนักของยางสึกไปหลายกรัม ซึ่งการสึกหรอนี้เทียบกับการขับปกติได้หลายร้อยกิโลเมตรทีเดียว การขับขี่ที่ความเร็วสูงจะทำให้ยางสึกมากกว่าการใช้งานที่ความเร็วต่ำ ยางที่วิ่งด้วยความเร็ว 110 กม/ชม สึกมากกว่ายางที่วิ่งด้วยความเร็วตาม กฏหมาย 90 กม./ชม ถึงประมาณ 30% สภาพพื้นถนนมีผลต่อการสึกของยาง ถนนคอนกรีตสึกเร็วกว่าถนนลาดยางมะตอย ถนนลูกรังดินแดงทำให้ยางสึกเร็วกว่าถนนยางมะตอย เรียบ ถึง 1 เท่าตัว ถนนที่มีสภาพร้อนทำให้ยางสึกเร็วกว่าถนนที่เย็นจากการศึกษาของผู้ผลิตยางบางรายพบว่า ยางวิ่งที่อุณหภูมิอากาศ 40c ยางสึกเร็วกว่าที่อุณหภูมิ 30c ถึงกว่า 25% การสลับยาง การสลับยางเป็นสิ่งจำเป็น การสลับยางช่วยให้ยางสึกสม่ำเสมอใกล้เคียงกันทุกเส้น ช่วยให้ยางแต่ละเส้นในรถคันนั้นมีอายุการใช้งานใกล้เคียงกัน การสลับยางควรทำตามระยะทางที่กำหนดในคู่มือรถ ถ้าไม่มีกำหนดควรทำทุก 5,000 กม. สำหรับรถใช้งานหนัก ขับขี่ความเร็วสูงหรือรถเก่าช่วงล่างไม่ดี หรือทุก 10,000 กม. สำหรับรถใช้งานทั่วไป การสลับยางครั้งแรกถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุดและควรทำที่ 5,000 กม. แรก การถ่วงล้อ ล้อที่หรือยางที่ไม่สมดุลจะทำให้เกิดอาการสั่นที่พวงมาลัย เป็นสาเหตุให้ผู้ขับขี่เกิดความเครียด ยางและชิ้นส่วนช่วงล่างมีอายุการใช้งานสั้นกว่าปกติ การสั่นอาจเกิดจากสาเหตุอื่นที่ไม่ใช่ยางได้เช่นกัน เช่นอาจจะเกิดจาก ยางแท่นเครื่องทรุดตัว หรืออาจเกิดจากยางบวมหรือโครงสร้างผิดปกติ เมื่อเริ่มรู้สึกถึงอาการสั่นให้รีบเช็คถ่วงล้อทันที และต้องมีการถ่วงล้อทุกครั้งเมื่อมีการสลับยาง การตั้งศูนย์ล้อ การตั้งศูนย์ล้อคือการปรับค่า TOE (IN, OUT) ค่า แคมเบอร์ (+, -) ค่ามุมแคสเตอร์ ให้เป็นไปตามที่ผู้ผลิตกำหนด รถที่มีศูนย์ล้อไม่ถูกต้องจะทำให้ยางสึกผิดปกติ และอาจสึกจนดอกหมดได้เร็วมาก ทำให้การตอบสนองจากพวงมาลัยผิดปกติและรถอาจจะวิ่งไม่ตรงทิศทาง ดังนั้นเมื่อสังเกตเกิดการสึกของยางผิดปกติ หรือการผิดปกติจากการตอบสนองของพวงมาลัยให้ดำเนินการ นำรถเข้าเช็คศูนย์โดยด่วน การเก็บรักษายางอะไหล่ ลมยางสำหรับยางอะไหล่ควรจะสูงกว่าค่าแนะนำขั้นสูงของคู่มือรถแต่ละรุ่นประมาณ 4 PSI และปรับลงเมื่อต้องนำมาใช้ผู้ขับขี่ควรหมั่นเช็คลมยางอะไหล่เดือนละครั้งและตรวจสอบเครื่องมือในการเปลี่ยนยางเช่นแม่แรง กากบาทถอดล้อหรืออุปกรณ์ถอดน๊อต ข้อมูลจาก เชลล์ ออโต้เซิร์ฟ คับ