ทุก 1 แสนคนของประชากรไทย จะมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนถึง 36.2 คน โดยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถยนต์เฉลี่ยวันละ 30 คน สูงสุดเป็นอันดับ 2 ของโลก และอันดับ 1 ของอาเซียน (ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก ปี 2558) นอกจากนี้ในงานวิจัยเมื่อปี 2552 ยังพบว่าความเสียหายทางเศรษฐกิจจากอุบัติเหตุบนท้องถนนมีมูลค่าสูงถึงกว่า 60,000 ล้านบาทต่อปี จนกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ทั้งภาครัฐและเอกชนต้องทุ่มเทงบประมาณและเวลาเพื่อหาทางแก้ไข
หากตัดภาพไปที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างญี่ปุ่น ในปี 2559 มีตัวเลขผู้เสียชีวิตบนท้องถนนไม่ถึง 4 พันคน ซึ่งต่ำสุดในรอบ 67 ปี นอกจากวัฒนธรรมของชาวญีปุ่นที่มีวินัยในทุกๆ เรื่องแล้ว การขับขี่ปลอดภัยเกิดขึ้นได้อย่างไร?
ย้อนไปในทศวรรษ 1950 หรือราว 57 ปีก่อน ญี่ปุ่นเริ่มฟื้นตัวหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 การผลิต การขนส่งสินค้าและบริการมีมากขึ้น ทำให้ปริมาณยานพาหนะเพื่อการพาณิชย์ รถโดยสาร และรถยนต์ส่วนตัวเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว สิ่งที่ตามมาคืออุบัติเหตุบนท้องถนนที่สูงขึ้นมาก จนรัฐบาลญี่ปุ่นต้องเข้ามาหาทางแก้ปัญหา โดยออกระเบียบให้ผู้ประกอบการขนส่งสินค้า รถโดยสารสาธารณะ และแท็กซี่ กำหนดมาตรการในการป้องกันและลดอุบัติเหตุอย่างจริงจัง เป็นรูปธรรมด้วยการนำระบบรวบรวมและเก็บข้อมูลการขับขี่อย่าง 'ทาโคกราฟ' (Tachograph) ที่บริษัทยาซากิ คอร์ปอเรชั่น เป็นผู้คิดค้นและผลิตเข้ามาใช้
ทาโคกราฟทำงานโดยเก็บตัวเลขพฤติกรรมการขับขี่ลงในกระดาษที่บรรจุไว้ในเครื่องตรวจจับที่ติดตั้งไว้ในรถแต่ละคัน โดยทุกบริษัทจะมีผู้รับผิดชอบรวบรวมและอ่านข้อมูลพฤติกรรมการขับขี่ของคนขับ ทำรายงานประเมินเป็นประจำทุกวัน หากมีการละเมิด เช่น ใช้ความเร็วไม่เหมาะสม ก็จะมีมาตรการลงโทษต่อไป ซึ่งทั้งหมดนี้ทุกบริษัทต่างดำเนินการเองด้วยความสมัครใจและความรับผิดชอบต่อสังคม
ปี 2542 บริษัทยาซากิฯ ได้พัฒนาระบบทาโคกราฟ เป็น 'การ์ดความจำ' แทนระบบเก่า เพื่อเก็บข้อมูลการขับขี่ อัตราการเร่ง การแซงและเปลี่ยนเลน อัตราการสิ้นเปลืองน้ำมัน ฯลฯ ให้ตอบสนองกับความต้องการของตลาดดิจิตอล จนกระทั่งปี 2555 ระบบแทรฟฟิค จีพีเอส เริ่มมีการใช้งานอย่างแพร่หลายในญี่ปุ่น มีระบบเก็บข้อมูลออนไลน์เชื่อมโยงกับอินเตอร์เน็ตที่ติดตั้งในรถบรรทุก รถโดยสารและรถแท็กซี่ เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน ซึ่งปัจจุบันมีรถที่ติดทาโคกราฟประมาณ 1.4 ล้านคัน และดิจิตอลทาโคกราฟประมาณ 4.7 แสนคัน โดยบริษัทยาซากิฯ มีส่วนแบ่งการตลาดถึง 49% ของดิจิตอลทาโคกราฟ
ในประเทศไทย บริษัท ไทย ยาซากิ เน็ตเวิร์ค เซอร์วิส ในเครือของบริษัท ยาซากิ คอร์ปอเรชั่น ได้มีความตั้งใจที่จะสร้างการขับขี่ปลอดภัยให้เกิดขึ้นในไทย จึงมีการพัฒนาระบบจีพีเอส 'อิ๊คคิวซัง' (iQsan) สำหรับรถบรรทุกและรถโดยสารเมื่อปลายปี 2559 ภายใต้แนวคิด Keep The Children Safe โดยมีฐานข้อมูลตำแหน่งของโรงเรียนประถมศึกษาและอนุบาลในเขตกรุงเทพฯ กว่า 392 แห่ง บันทึกอยู่ในระบบ เมื่อรถวิ่งผ่านบริเวณดังกล่าวในช่วงเวลาเร่งด่วน ระบบจะทำการแจ้งเตือนเป็นภาษาไทยเพื่อให้คนขับเพิ่มความระมัดระวังการขับขี่ เพื่อช่วยลดอุบัติเหตุแก่เด็ก
จีพีเอสอิ๊คคิวซังสามารถเก็บข้อมูลต่างๆ เช่น ความเร็ว รอบเครื่อง องศาคันเร่ง อัตราการฉีดน้ำมัน ตำแหน่งของรถ ทำให้รู้สถานะของรถและคนขับ สามารถวิเคราะห์ลักษณะการขับขี่ได้แบบเรียลไทม์ เป็นระบบปิด มีการเชื่อมต่อระหว่างเครื่องที่มีประสิทธิภาพสูง โดยผู้ใช้งานสามารถเก็บสถิติข้อมูลย้อนหลังได้ 1 ปี และบริษัทยาซากิ ฯสามารถเก็บได้ 2 ปี เพื่อนำมาพิจารณาในการให้คำแนะนำกับลูกค้า และใช้ในการพัฒนาเพื่อปรับปรุงระบบให้ดีขึ้นในอนาคต นอกจากนี้บริษัทยังมีบริการให้คำปรึกษาและพัฒนาทักษะการขับขี่ เป็นระยะเวลา 1-2 วัน เพื่อให้การขับขี่เป็นไปด้วยปลอดภัย ลดอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้น ลดค่าใช้จ่ายทางธุรกิจและลดต้นทุนในการสูญเสียโอกาส ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญที่ผู้ประกอบการควรมีต่อสังคม
ปัจจุบันประเทศไทยมีจีพีเอสสำหรับรถโดยสารและรถบรรทุกกว่า 60 รุ่น จาก 30 กว่าบริษัท ทั้งนำเข้าจากญี่ปุ่น จีน หรือเครื่องประกอบในไทย โดยมีราคาเฉลี่ยตั้งแต่ 10,000 - 40,000 บาท ซึ่งขณะนี้รัฐบาลได้ออกกฎหมายกำหนดให้รถโดยสารสาธารณะ รถลางจูง (รวมรถตู้โดยสาร) และรถบรรทุกขนาดใหญ่ ที่จดทะเบียนใหม่ ต้องดำเนินการติดตั้งจีพีเอสภายในรอบปีภาษี 2560 และ 2561 ส่วนรถบรรทุกส่วนบุคคลให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จในรอบปี 2560 โดยตัวเลขของกรมการขนส่งทางบก ณ เดือนธันวาคม 2559 เปิดเผยว่า ปัจจุบันไทยมีรถบรรทุกประมาณ 1,050,000 คัน มีรถบรรทุกขนาดใหญ่ที่ติดตั้งจีพีเอสแล้วประมาณ 1.3 แสนคัน โดยในจำนวนนี้เป็นรถบรรทุกขนาดใหญ่ 'ฮีโน่' ที่ใช้จีพีเอสอิ๊กคิวซังถึง 4,000 คัน ซึ่งเพิ่มเติมจากยอดเดิมที่ติดตั้งจีพีเอสแล้วเกือบ 30,000 คัน
กรมการขนส่งทางบกตั้งเป้าหมายลดผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้ต่ำกว่า 10 คนต่อประชากร 1 แสนคน ให้ได้ภายในปี 2563 ดังนั้นการสร้างวินัยและความรับผิดชอบให้กับผู้ขับขี่ก็เป็นเรื่องสำคัญ ที่จะต้องทำคู่กันไปกับการใช้ข้อมูลจากจีพีเอสเพื่อลดอุบัติเหตุบนท้องถนนให้ได้มากที่สุด
จีพีเอสกับการลดอุบัติเหตุบนท้องถนน ประสบการณ์ของญี่ปุ่นในการสร้างถนนปลอดภัย
การสนทนาใน 'New Product' เริ่มโดย News, 8 มิถุนายน 2017
ความคิดเห็น
การสนทนาใน 'New Product' เริ่มโดย News, 8 มิถุนายน 2017