เจอเข้าเลยเอามาฝากครับ เรื่องยุ่ง ๆ ของสปริง แหนบ ระบบรองรับน้ำหนักและให้ความยืดหยุ่นของรถมีมากมาย แต่ที่คุ้นเคยกันมาก คือ คอยล์สปริง และแหนบ รองลงไปก็ทอร์ชันบาร์ ถุงลม ฯลฯ แต่นอกจากการรับน้ำหนักและสร้างความยืดหยุ่นแล้ว สปริงและแหนบยังทำหน้าที่กำหนดความสูงด้วย เมื่อปล่อยรถลงพื้นมีน้ำหนักกดลง แหนบหรือสปริงก็จะยุบตัวลงบ้าง หากบรรทุกน้ำหนักมากขึ้นก็จะยุบตัวมากขึ้น ทำให้ตัวรถเตี้ยลง ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโช้กอัพ หลายคนเข้าใจผิดว่า โช้กอัพหรือช็อกแอบซอร์บเบอร์ เป็นตัวกำหนดความสูงหรือความแข็ง ความจริงแล้ว โช้กอัพทำหน้าที่หน่วงไม่ให้สปริงหรือแหนบเต้นแล้วหยุดยากหรือเต้นถี่เกินไป เปรียบเทียบง่าย ๆ คือ ถ้าไม่มีโช้กอัพ เมื่อรถยนต์แล่นอยู่แล้วมีการยุบและยืดตัว ก็จะมีการอาการเต้นอย่างต่อเนื่อง เหมือนเอาตุ๊กตาติดบนยอดสปริงแล้วใช้มือตบลงเพียงครั้งเดียว ตุ๊กตาและสปริงก็จะเต้นต่อเนื่องไปอีกนับสิบครั้ง หรือนำหนังสติ๊กห้อยลูกเหล็กเอาไว้ ดึงลูกเหล็กให้หนังสติ๊กยืดแล้วปล่อยมือ ลูกเหล็กก็จะเต้นขึ้นลงตามการยืดหยุ่นขจองหนังสติ๊กต่อเนื่องหลายครั้งกว่าจะหยุด ถ้าเป็นรถที่เต้นแบบนั้นตลอด (เพราะถนนไม่ได้เรียบแบบกระจก) คนนั่งก็คงเวียนศรีษะ และรถก็มีการทรงตัวที่แย่มาก จึงต้องใช้โช้กอัพที่มีความหนืดในตัวเอง ทำหน้าที่หน่วงการเต้นนั้นให้ชะลอตัวอย่างรวดเร็ว เปรียบเสมือนการนำลูกเหล็กและหนังสติ๊กไปแช่ในถังน้ำใหญ่ ๆ ดึงลูกเหล็กให้หนังยางยืดแล้วปล่อยมือ การเต้นของลูกเหล็กจะชะลอตัวลงด้วยความหนืดของน้ำเร็วกว่าตอนที่ทำในอากาศ เปรียบหนังสติ๊กเป็นสปริงหรือแหนบ ลูกเหล็กคือน้ำหนักของรถยนต์ น้ำในถังที่คอยหน่วงก็เสมือนเป็นโช้กอัพที่ใช้น้ำมันไหลผ่านรูเล็ก ๆ (วาล์ว) ในการสร้างความหนืด ดังนั้น เมื่อโช้กอัพเสีย รถก็จะมีอาการเต้น หรือ โคลงง่าย เพราะไม่มีความหนืดมาช่วยหน่วงการเต้นของสปริงหรือแหนบ เตี้ยด้วย 2 ทาง ตัดสปริง & สปริงโหลด การตัดสปริงทำง่ายและได้ความเตี้ยตามต้องการ แต่ไม่ส่งผลดีต่อการทรงตัวของรถ และผิดหลักการ ถ้าตัดสปริงด้วยไฟ ความร้อนจะทำให้ความยืดหยุ่นบริเวณใกล้เคียงเสียไป ส่วนการตัดด้วยหินเจียรหรือไฟเบอร์ แม้ไม่มีปัญหาจากความร้อน แต่ก็มีปัญหาอื่น ๆ ตามมา สปริงทำงานด้วยการบิดตัวของเส้นเหล็กสปริง (คล้ายเวลาบิดผ้าเป็นเกลียว) ไม่ใช่การยืดและยุบตัว ถ้าสปริงมีความสูง และมีจำนวนรอบมาก ก็แสดงว่าทำจากเหล็กเส้นยาว จึงบิดตัวและยุบตัวได้ง่าย หากตัดสปริงสั้นลงก็จะบิดตัวยากขึ้น ทำให้กระด้างมากขึ้น หากนำสปริงมายืดก็จะได้เป็นเหล็กเส้นยาว การบิดเหล็กเส้นยาวย่อมทำได้ง่ายกว่าการบิดเหล็กเส้นสั้น เช่น เหล็กยาว 10 เมตร ย่อมบิดเป็นเกลียวได้ง่ายกว่าเหล็กยาว 1 เมตร ดังนั้น การตัดสปริงให้เตี้ยลง ก็คือการตัดเส้นเหล็กให้สั้นลงนั่นเอง ทำให้สปริงมีความแข็งมากขึ้น ยุบตัวยากขึ้น หรือแข็งกระด้างมากขึ้นนั่นเอง สปริงแข็ง เมื่อยุบตัวแล้ว ก็จะดีดกลับแรงขึ้นด้วย โช้กอัพเดิมที่มีความหนืดเหมาะกับสปริงนิ่ม ๆ เมื่อสปริงแข็งขึ้น โช้กอัพก็รั้งการเต้นไม่ไว้ ตัวรถจะกระเด้งขึ้นลงหลายครั้งกว่าจะหยุด การทรงตัวก็จะไม่ดี โช้กอัพต้องทำงานหนักขึ้น และพังเร็วขึ้น เนื้อของเหล็กที่ใช้ทำสปริง 1 ขด ถูกออกแบบมาให้เหมาะสมกับน้ำหนักที่ต้องแบกรับ เมื่อตัดสปริงทำให้เหลือเนื้อเหล็กน้อยลง แต่ต้องรับน้ำหนักเท่าเดิม สปริงจึงอาักหรือทรุดตัวเร็วได้ ในเรื่องความแข็ง ถ้าเป็นเป็นสปริงโหลดที่ออกแบบมาเฉพาะ ก็จะมีความแข็งเพิ่มขึ้น แต่ไม่แข็งกระด้างเหมือนการตัดสปริง นอกจากความแข็งที่เพิ่มขึ้นแล้ว อีกปัญหาสำคัญอยู่ที่ปลายสปริงที่ถูกตัดออก ซึ่งจะชี้ออกมาไม่ราบเหมือนเดิม แม้ใส่แล้วปลายสปริงจะถูกน้ำหนักกดให้แนบกับเบ้ารับสปริงได้ แต่ปลายที่ชี้นั้นจะทำให้การยืด และยุบตัวของสปริงมีการฝืนตัว และดิ้นออกข้าง ไม่ยืดและยุบตัวในแนวดิ่งเหมือนตอนก่อนตัดสปริง โช้กอัพจึงต้องรับแรงดิ้นด้านข้างด้วย ทำให้โช้กอัพเสียง่าย ร้านช่วงล่างหลายแห่ง แก้ปัญหานี้ด้วยการเป่าไฟที่ปลายสปริงที่ชี้ออกมา แล้วดัดให้เข้าที่ เส้นสปริงบริเวณข้าง ๆ ที่โดนความร้อนก็จะเสียความยืดหยุ่นไป อยากเตี้ยต้องเปลี่ยนสปริง วิธีที่ถูกต้องเมื่อต้องการโหลดลดความสูง คือ การเปลี่ยนสปริงโหลดที่เตี้ยลงกว่าเดิม ซึ่งปัจจุบันมีผลิตสำหรับรถยนต์เกือบทุกยี่ห้อ 4 เส้นราคาไม่ถึงหมื่นบาท หรือถ้าไม่มีจริง ๆ ก็ต้องหาเทียบใช้จากรถยนต์รุ่นอื่น ๆ แม้จะยุ่งยาก และแพงกว่าการตัดสปริง รวมทั้งเตี้ยไปสะใจบางคน แต่ก็ให้การเกาะถนนที่ดีกว่าการตัดสปริงแน่นอน เมื่อเปลี่ยนสปริงที่แข็งขึ้นแล้ว ก็ควรเปลี่ยนโช้กอัพที่มีความหนืดเพิ่มขึ้น ถ้ามีโอกาส ควรเลือกที่มีจังหวะยืดหนืดกว่าเดิม (จังหวะยุบหนืดอยู่แล้วเพราะสปริงแข็งขึ้น) ถ้าเป็นแบบปรับความหนืดได้ก็ยิ่งดี ถ้าอยากเตี้ยและเกาะถนน ลืมการตัดสปริงไปได้เลย การเปลี่ยนสปริงโหลดกับโช้กอัพหนืด ๆ เป็นทางออกที่ลงตัวที่สุด จริงหรือที่แหนบต้องกระด้าง เมื่อคิดถึง แหนบ รถยนต์ คนส่วนใหญ่นึกถึงความล้าสมัยหรือความแข็งกระด้างเสมอ ทั้ง ๆ ที่ในเบื้องลึกในทางวิศวกรรมยานยนต์ ไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป แหนบ เป็นหนึ่งในรูปแบบของชิ้นส่วนที่ต้องรองรับน้ำหนัก และสร้างความยืดหยุ่นในช่วงล่างของรถ จากหลายรูปแบบซึ่งนิยมใช้กันอยู่ เช่น คอยล์สปริง ทอร์ชันบาร์ ฯลฯ ในแต่ละรูปแบบที่ใช้กันอยู่ในรถยนต์หลายประเภท แต่คนทั่วไปมักจะแบ่งความทันสมัย ความนุ่มนวล และประสิทธิภาพด้วยความรู้โดยผิวเผิน โดยมองว่าแหนบเป็นรูปแบบที่ล้าสมัย และกระด้าง เพราะเห็นนิยมใช้ในรถเพื่อการพาณิชย์ เช่น ปิกอัพ รถบรรทุก รถเมล์ รถโดยสาร ฯลฯ ส่วนในรถเก๋ง ก็มีใช้เฉพาะในรุ่นเก่า ๆ ส่วนรุ่นใหม่นิยมใช้เป็นคอยล์สปริงทั้งนั้น ก็เลยยึดติดว่า หากรถรุ่นใดใช้แหนบ จะต้องแข็งกระด้างเหมือนปิกอัพหรือรถบรรทุกเสมอไป ชิ้นส่วนที่ต้องรองรับน้ำหนักและสร้างความยืดหยุ่นของรถ จะรับน้ำหนักได้เท่าไร มีความนุ่มนวลเพียงใด ไม่ได้อยู่ที่รูปแบบ แต่อยู่ที่ ความแข็ง ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการเลือกใช้วัสดุและความหนา สปริงเส้นใหญ่เท่าข้อมืออย่างในรถไฟก็สุดจะแข็ง ทอร์ชันบาร์-คานบิดก็มีใช้ทั้งในปิกอัพที่ต้องบรรทุกเป็นตัน ๆ และก็มีใช้ในรถเก๋งยุโรปหลายรุ่นที่ว่ากันว่าเกาะถนนดี ส่วนแหนบนิ่ม ๆ ก็มีใช้ในรถเก๋ง ไม่ใช่เฉพาะแต่รุ่นเก่าเท่านั้น อย่างรถออฟโรดคันละระดับสองล้านบาทจากสหรัฐอเมริกา ก็ใช้อยู่ และก็ไม่เห็นมีใครบ่นว่าแข็งทื่อ ความแข็งกระด้างไม่ได้อยู่ที่รูปแบบ แต่อยู่ที่ความตั้งใจหรือขอบเขตในการเลือกใช้ อย่างปิกอัพไทยที่มีพิกัดบรรทุก 1 ตัน ผู้ผลิตก็ต้องเลือกใช้แหนบที่บรรทุกได้ 1 ตันตามพิกัดของทางราชการแล้วไม่แอ่น ซึ่งไม่มีทางที่จะเหมาะสมกับการใช้งานของผู้ซื้อทุกคน เพราะมีทั้งที่นำไปใช้บรรทุกจริง 1 ตันหรือหนักกว่านั้น รวมถึงที่ใช้เสมือนรถเก๋ง นั่งเฉพาะในห้องโดยสารเพียงไม่กี่คนกับน้ำหนักบรรทุกรวมแค่ 200-300 กิโลกรัม จนมีคนที่ซื้อปิกอัพแล้วไม่ได้บรรทุกเต็มพิกัด และสนใจการแต่งรถ ยอมเสียเงินซื้อแหนบชุดแต่งที่มีความนิ่มมากกว่าเดิมมาใส่แทน หากอยากลบล้างการมองอย่างผิวเผินแล้วรู้สึกว่าแหนบแข็งกระด้างหรืออยากเลิกยึดติดว่า ถ้าอยากนิ่มก็ต้องเป็นคอยล์สปริง แนะนำให้ลองนึกเปรียบเทียบง่าย ๆ สั้น ๆ ว่า ระหว่างสปริงขนาดเส้นเท่ากับข้อมือคน กับแหนบบาง ๆ แผ่นเดียวหรือซ้อนกันไม่กี่แผ่น อย่างใดจะให้ความนิ่มนวลมากกว่ากัน ปิกอัพไทยที่อยู่ในพิกัด 1 ตัน และต้องบรรทุกให้ได้ตามนั้น (หรือกว่านั้นเล็กน้อย) แล้วไม่แอ่น เมื่อนำไปใช้งานบรรทุกเบา ช่วงล่างเดิมก็ถือว่าไม่เหมาะสม เพราะแข็งเกินไป ยุบยาก แต่ดีดตัวแรง เพราะมีน้ำหนักกดอยู่น้อยกว่าตอนบรรทุกเต็มพิกัด ใครซื้อปิกอัพไปแล้วไม่บรรทุกหนัก ก็ต้องทนกับช่วงล่างเดิมที่ไม่ตรงกับน้ำหนักบรรทุกจริง หรือบางคนที่รู้เรื่องแต่งรถ ก็เลือกเสียเงินเปลี่ยนเป็นแหนบชุดแต่งนิ่ม ๆ อยากนิ่มต้องเปลี่ยนแหนบ การยุบตัวและยืดตัวของแหนบเมื่อไม่บรรทุกหนัก ขึ้นอยู่กับแหนบหลักตัวยาวที่มีหูยึด และแหนบตัวที่แนบกันอยู่เป็นหลัก เกี่ยวข้องกับแหนบตัวสั้นและหนาที่ห้อยอยู่ด้านล่างบ้างเท่านั้น เพราะตอนนั้นแหนบหลักไม่ได้ยุบตัวจนได้ทำงานเต็มที่เหมือนกับตอนบรรทุกหนัก ดังนั้น เมื่ออยากให้นิ่มกับวิธีถอดแหนบบรรทุกตัวหนา 1-2 ตัวที่ห้อยอยู่ด้านล่างออก หรือติดปลายแหนบหนาออกเล็กน้อย จึงมีผลต่อความนุ่มนวลน้อย เพราะในการยุบตัวช่วงแรก ๆ เป็นหน้าที่ของแหนบยาวตัวบน ๆ เป็นหลัก ส่วนแหนบหนาตัวล่าง ๆ ได้ทำงานเพียงเล็กน้อยกับการดันแหนบบนไม่ให้แอ่น ต้องยุบตัวมาก ๆ แหนบหนาถึงจะได้ทำงานมากขึ้น การถอดหรือตัดปลายแหนบหนา จะลดความกระด้างเมื่อไม่บรรทุกหนักได้บ้าง เมื่ออยากให้มีความนุ่มนวล วิธีที่ได้ผลมากและถูกต้อง คือ การเปลี่ยนแหนบตัวหลัก หรืออาจรวมถึงตัวรองลงมาด้วย จะเป็นแหนบชุดแต่งหรือผลิตขึ้นพิเศษก็ตาม ถ้าจะให้มีการทรงตัวที่ดีขึ้นไปอีก ก็ควรเปลี่ยนโช้กอัพที่มีความหนืดในจังหวะยืดมากขึ้น เพราะรั้งการดีดตัวของแหนบ ส่วนจังหวะยุบไม่ต้องหนืดมาก เพราะแหนบทำหน้าที่ต้านการยุบตัวอยู่แล้ว อยากเตี้ย อย่าตัดแหนบ ในกรณีที่ไม่อยากเตี้ยมาก และติดตั้งแหนบอยู่ใต้เพลา สามารถใช้แท่งเหล็ก 4 เหลี่ยม อยากให้เตี้ยเท่าไรก็ใช้แท่งเหล็กสูงเท่านั้น นำไปรองระหว่างเพลากับแหนบ พร้อมเปลี่ยนสาแหรกยึดแหนบให้ยาวตามกันประมาณ 1 ชั่วโมงกับเงินไม่กี่ร้อยบาทก็เตี้ยได้สมใจ ความกระด้างไม่ต่างจากเดิม ใช้โช้กอัพเดิมได้ ส่วนช่วงล่างด้านหน้า ถ้าเป็นแบบทอร์ชันบาร์ ก็ไขปรับได้ไม่ยาก ถ้าเป็นสปริงก็เหนื่อยหน่อย ต้องหาเทียบใช้หรือหาชุดแต่งของปิกอัพที่หาซื้อยาก การตัดแหนบทำให้เตี้ยลงได้ แต่ความยืดหยุ่นและระยะยุบตัวจะเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น จึงเป็นวิธีที่ไม่แนะนำ